หลายคนชอบสะสมหนังสือประเภท How To ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Best Seller ระดับโลก หรือระดับประเทศ และชื่นชอบประเด็นหลัก หรือ ประโยคทองของหนังสือเหล่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน สิ่งประทับใจเหล่านั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป เหมือนคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง จำได้เพียงว่าเป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง ไม่ต่างกับการดูภาพยนต์ดังที่ได้ความประทับใจ แต่ไม่นานก็ลืม เป็นเช่นนั้นก็เพราะสมองของเราคัดเลือกที่จะจดจำเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของเราเท่านั้น ยิ่งมีข้อมูลใหม่ๆ ผ่านเข้าสู่กระบวนการรับรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ความทรงจำที่ไม่ได้ถูกเรียกใช้บ่อยก็จะถูกลบออกไป
จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์จากหนังสือ How-To ให้มากกว่าเดิม?
ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยเรียนกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เราจดจำได้นาน คือการเรียนรู้ครั้งละ น้อยๆ ฝึกเขียน ฝึกท่องซ้ำๆ จึงจะทำได้ และมีการสอบเพื่อทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องทบทวน ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ความทรงจำนั้นยังอยู่เหนียวแน่น และกลายเป็นพื้นฐานเพื่อการต่อยอด หรือเชื่อมโยงกับเรื่องใหม่
หากเราต้องการแปลงบทเรียนในหนังสือ How To ให้กลายเป็นทักษะใหม่ ให้ลองเปลี่ยนวิธีอ่านเป็นดังนี้
- อ่านทีละเรื่อง ไม่อ่านรวดเดียวจบเพื่อความบันเทิง หรือแม้จะอ่านจบ
- หาโอกาสทดลองใช้หรือหาความเชื่อมโยงในชีวิตจริง อย่าลืมบอกตนเองว่า ไม่แปลกที่ครั้งแรกยังทำได้ไม่ค่อยดี และพยายามหาโอกาสทำซ้ำ
- ทบทวนบทเรียนที่ได้จากการทดลองทำ เมื่อเข้าใจจริงแล้วจึงค่อยอ่านเรื่องต่อไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การฝึกใช้ภาษาต่างชาติ กรณีที่เรียนไวยกรณ์ใหม่ หรือคำศัพท์ใหม่ เราจะจำได้ดีก็ต่อเมื่อได้ทดลองใช้จริง แม้ครั้งแรกๆ จะใช้ได้ไม่คล่องนัก แต่เมื่อใช้ซ้ำๆ ก็จะดีขึ้น และเป็นธรรมชาติมากขึ้นไปเอง ดิฉันยกตัวอย่างนี้ เพราะกรณีของตนเองเมื่อตอนเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจจะพูดว่า ‘ข้าว’ ที่ออกเสียงว่า ‘โกเมะ’ แต่กลับพูดว่า ‘โกมิ’ ซึ่งแปละว่า ‘ขยะ’ การพูดผิดครั้งนั้น ทั้งขำ ทั้งอาย แต่ก็ทำให้จำคำนี้ได้แม่นมิลืมเลือน
ทักษะการบริหารคนก็เช่นกัน หนังสือหลายเล่มอาจจะแนะนำว่า “ผู้นำต้องเก่งเรื่องการสื่อสาร” ซึ่งหากอ่านผ่านๆ เราจะได้แค่ความเข้าใจ แต่ไม่ได้ทำให้ตัวเราเป็นนักสื่อสารที่ดีขึ้นเลย
หากต้องการแปลงความรู้ใหม่นี้ให้กลายเป็นทักษะของตนเอง แนะนำให้ลองทบทวนว่าตนมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือไม่ มีใครในที่ทำงานที่เป็นต้นแบบของผู้ที่สื่อสารได้ดีและใครสื่อสารได้แย่บ้าง จากตัวอย่างจริงที่เห็น ลองปรับเปลี่ยนวิธีสื่อสารของตนเองกับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเจ้านายดู แล้วสังเกตพฤติกรรมของผู้รับสารว่าเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่ใช่สาระสำคัญ เมื่อใดที่มีคนบอกว่าคุณเปลี่ยนไป หรือกล่าวชม หรือปัญหาจากการสื่อสารลดลง นั่นแหล่ะจึงจะถือว่าคุณสอบผ่านบทเรียนนั้น พร้อมไปต่อบทถัดไปของหนังสือ How To เล่มเดิมได้
แน่นอนว่าการทดลองทำจริงนั้นยากกว่าสมัยเรียนและมีความเสี่ยงที่ความผิดพลาดอาจกระทบต่อความก้าวหน้าได้ จึงควรเลือกโอกาสที่เหมาะสม แต่อย่ามัวแต่กังวลจนปล่อยให้ข้ออ้างภายในใจทำให้ไม่ได้ทดลองเลย ซึ่งจะเหมือนกับคนที่เรียนภาษาอังกฤษเก่งแต่ไม่กล้าพูดกับชาวต่างชาติในชีวิตจริง
การฝึกลองทำทักษะใหม่ๆ ในพื้นที่และเวลาที่เราเลือกได้เองแต่เนิ่นๆ ย่อมปลอดภัยกว่าการรอจนถึงสถานการณ์วัดความสามารถจากเจ้านายมาถึงแบบไม่เคาะประตู และความผิดพลาดก็เป็นกลไกหนึ่งของการช่วยให้ทักษะใหม่นั้นอยู่กับคุณได้ยาวนาน
ขอบคุณภาพจาก: book-stacking-open-book-hardback-books-on-wooden-table-and-pink-back-picture-id938171020 (612×408) (istockphoto.com)
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน