วันนี้ขอนำหัวข้อที่ฟังดูหดหู่ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาเตือนชาวมนุษย์เงินเดือนทุกท่านให้เตรียมพร้อม นอกจากการ์ดป้องกันไวรัส โควิด 19 ต้องไม่ตกแล้ว เราต้องล่ามโซ่เก้าอี้ทองของเราไว้ให้จงมั่น
เรื่องของความเสี่ยงตกงาน ทุกท่านคงเตรียมใจ และประเมินสถานการณ์กันได้พอสมควร แต่สิ่งที่ท่านพึงคำนึงถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ เงินที่ท่านจะได้รับจากการถูกเลิกจ้างกลางอากาศ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ เงินบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน และเงินชดเชย (ส่วนที่ 3 คือ เงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่บริษัทของท่านมีการจัดตั้งกองทุนฯ)
ท่านที่มีอายุงานนานหลายปี อาจจะรู้สึกปลอดภัยโดยคิดว่า บริษัทน่าจะเลือกเชิญผู้ที่อายุงานสั้นกว่าออกก่อนเพื่อประหยัดส่วนของเงินชดเชย หรือถึงแม้บริษัทเลือกที่จะเชิญออก ตนยังได้รับเงินชดเชยก้อนใหญ่เป็นมูลค่าหลายเท่าของเงินเดือน เช่น คนที่มีอายุงาน นาน 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยถึง 10 เท่าของค่าตอบแทนในเดือนสุดท้าย (เช่น ถ้าปกติได้รับค่าเดินทาง หรือ ค่าอาหารเหมาจ่าย ก็นำมารวมคำนวณด้วย)
ในสถานการณ์ปกติที่บริษัทจำเป็นต้องรักษาคุณภาพสินค้าหรือบริการให้ดีตลอดเวลา มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะยอมปิดตาข้างเดียวกับพฤติกรรมที่เข้าข่าย ผิดกฎของบริษัทร้ายแรง แต่ในสถานการณ์ที่ยอดขายตก ปริมาณงานน้อย ต้องการลดค่าใช้จ่ายในทุกทาง หรือประเมินได้ว่าธุรกิจของบริษัทในระยะยาวไม่มีทางกลับคืนที่ขนาดเดิมได้ บริษัทอาจเลือกวิธีเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชยโดยกล่าวอ้างการกระทำผิดร้ายแรงของพนักงานซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายก็เป็นไปได้
ตัวอย่างใกล้ตัวที่เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่จริงถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรงเพียงพอที่บริษัทจะสามารถกล่าวอ้างและใช้สิทธิ์ตามกฎหมายที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินชดเชยได้ ไม่ว่าท่านมีอายุงานยาวนานเท่าไร
- การทำข้อมูลสำคัญของบริษัทรั่วไหล เช่น ในระหว่าง Work From Home ท่านเผลอถ่ายภาพ Selfie เล่นกับลูก แล้วโพสต์ลงสื่อโซเชี่ยลโดยไม่ทันระวังว่า มีข้อมูลลับของบริษัทที่ท่านรับผิดชอบอยู่ติดอยู่ในภาพอย่างชัดเจน แม้ท่านจะพิจารณาด้วยตนเองแล้วว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ ณ เวลานี้ แค่เพียงเอกสารนั้น มีคำว่า “ลับ” ประทับอยู่ ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าท่านกระทำผิดร้ายแรงได้แล้ว
- การก่อความวุ่นวาย เช่น หลังจากถูกเชิญไปเจรจาปรับลดเงินเดือน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ห้ามเปิดเผย หากพนักงานแอบรวมตัว แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วเกิดความไม่พอใจ จนรวมตัวกันเพื่อประท้วงบริษัท สร้างความวุ่นวาย หรือบ่นออกสื่อโซเชี่ยล ซึ่งทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์ นี่ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรงที่บริษัทสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องออกจดหมายเตือนก่อน และไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ดังนั้นแม้ท่านจะไม่พอใจเรื่องการถูกปรับลดเงินเดือน สิ่งที่ทำได้ คือ การต่อรองโดยตรงกับนายจ้างเท่านั้น เมื่อยินยอมแล้ว อย่าได้เผลอแสดงความไม่พอใจผ่านสื่อสาธารณะรูปแบบใดๆ เด็ดขาด
- ใช้เวลางานไปกับกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของบริษัท เช่น เมื่อถึงเวลาประชุมออนไลน์ ท่านหายไปไม่เข้าประชุมบ่อยครั้ง หรือ บริษัทติดต่อในเวลางานแล้วไม่สามารถติดต่อท่านได้ หนักกว่านั้นคือ มีภาพของท่านกำลังพักผ่อนในรีสอร์ทต่างจังหวัดทั้งๆ ที่เป็นวันทำงาน
เพื่อให้แน่ใจว่าพฤติกรรมเคยชินของเราที่เคยทำในช่วงปกติ จะไม่กลายเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างกลางอากาศแถมไม่ได้รับเงินชดเชยในช่วงวิกฤตินี้ ขอแนะนำให้ท่านไปอ่านกฎระเบียบของบริษัทให้ดี อย่าคิดเอาเองว่า ใครๆ ก็ทำ คงไม่ผิดมั้ง เพราะไม่แน่ว่า ทั้งเขาเหล่านั้นและเราอาจจะต้องถูกเลิกจ้างด้วย “กรรม” เดียวกันก็เป็นไปได้
สรุปว่า ถ้าอยากลดความเสี่ยงการถูกเลิกจ้างแถมไม่ได้เงินชดเชย เราพึงเป็นพนักงานที่ไม่เอาเปรียบบริษัท เสมอต้น เสมอปลาย ตลอดเวลาทำงาน และไม่แสดงตัวตนออกสื่อเยอะนั่นเอง
………..
ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://unsplash.com/photos/9X1P46Y2KJo
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
19/1/2564
Anonymous
January 20, 2021WFH และกำลังคิดเปลี่ยนงานอยู่คับ
Waranya
January 20, 2021คิดได้แต่การย้ายงาน ณ เวลานี้ต้องมั่นใจว่าที่ใหม่ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ เพราะหากย้ายแล้วที่ใหม่มีปัญหาการเงิน อาจบอกเลิกจ้างก่อนครบ 120 ซึ่งเราจะไม่ได้รับเงินชดเชย และอาจจะหางานใหม่ยาก
อย่างไรควรพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ