ทุกคนคงมีคำถามในใจว่าเราต้องรอกันอีกนานเท่าไหร่กว่าโลกจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม
วันนี้จึงขอนำสำนวนญี่ปุ่น มาเป็นวิตามินเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านความเบื่อ ความท้อแท้ของท่านผู้อ่าน ซึ่งดิฉันได้รับวิตามินนี้มาสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น
การเรียนปริญญาเอกในประเทศญี่ปุ่น ต่างกับระบบของอเมริกาตรงที่ ไม่มีการบังคับเรียนวิชาพื้นฐาน (หรือ course work) เน้นที่การทำวิจัย ซึ่งสามารถจบได้ในเวลา 3 ปี ฟังดูเหมือนจะเร็วดี แต่ที่ยากกลับกลายเป็นการต้องดิ้นรนค้นคว้าเองให้เจอประเด็นที่น่าสนใจ และเรียนรู้ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องเอาเอง มีเพียงข้อกำหนดว่า จะต้องนำเสนอความคืบหน้าของผลงานปีละ กี่ครั้ง จะต้องนำผลวิจัยส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอย่างน้อย 1-3 ฉบับ แล้วแต่แต่ละมหาวิทยาลัยและสาขาที่เรียน และต้องส่งวิทยานิพนธ์ และสอบปกป้องตนเองให้ผ่านตามกำหนด ความอิสระและเงื่อนไขแบบหลวมๆ กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกเกินครึ่งไม่สามารถจบได้ทันเวลา 3 ปี
ดิฉันเองก็เคยมีความรู้สึกท้อแท้ใจ สิ้นหวัง ผิดหวัง โดยเฉพาะเมื่อได้รับแจ้งว่า ผลงานวิจัยที่นำเสนอไปถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการ ทั้งๆ ที่ใช้เวลามากว่าครึ่งปี และกังวลต่อไปว่าจะทำอย่างไรหากเรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่ได้รับทุน แล้วก็ได้รับคำปลอบใจจากชาวญี่ปุ่นอาวุโสท่านหนึ่ง เป็นสำนวนว่า 石の上にも三年 (อ่านว่า อิชิ โนะ อุเอะ นิโมะ ซันเน็ง) ซึ่งแปลตรงตัวว่า บนหินยังต้อง 3 ปี มาจากคำอธิบายดั้งเดิมว่า หากนั่งบนหินที่หนาวเย็นยังต้องใช้เวลา 3 ปีกว่าหินนั้นจะอุ่น ซึ่งสะท้อนถึงกรณีของพระซึ่งมีความอดทนในการนั่งปฏิบัติสมาธิบนก้อนหินที่หนาวเย็นอย่างไม่หวั่นไหว
สำนวนนี้ ใช้สำหรับการให้กำลังใจคนที่กำลังทำสิ่งที่ไม่เคยและดูจะไม่น่าสนุกให้มีความอดทน อดกลั้น เพื่อจะเอาชนะสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะไม่ใช่การที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวเราได้ แต่คือการที่เราสามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพอันไม่พึงประสงค์นั้นได้จนบรรลุเป้าหมายส่วนตัวที่มุ่งหวังไว้ เบื้องหลังสำนวนนี้ คงไม่มีพระรูปใดมีความอดทนนั่งบนหินที่หนาวเย็นได้นานถึง 3 ปี หากไม่มีความศรัทธาในองค์พระศาสดา และเชื่อว่าการปฏิบัตินั้นจะนำไปสู่การบรรลุบางสิ่งบางอย่างตามความเชื่อของตน
ในชีวิตการทำงาน ทุกท่านจะต้องเจอบททดสอบความแกร่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะงานที่ไม่ถูกจริต เพื่อนร่วมงานที่นิสัยคนละขั้ว เจ้านายที่เอาแต่ใจ ลูกค้าช่างติ คงไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ 3 ปีในการพิสูจน์ความอดทนในทุกกรณีข้างต้น จะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง และความเชื่อว่าท่านจะไปให้ถึงโดยไม่ล้มเลิก
หากเป้าหมาย คือ การชนะขีดจำกัดของตนเอง ความอดทนนั้นคงจบลงได้ง่าย เมื่อตนได้ผ่านพ้นขีดจำกัดเดิม โดยไม่มีความท้าทายใหม่รออยู่
หากเป้าหมาย คือ การสะสมรายได้หรือไปให้ถึงตำแหน่งใดในองค์กร ทุกครั้งที่เจอความทุกข์ในการทำงาน ก็ควรเตือนตนเองด้วยยอดเงินในบัญชี หรือตำแหน่งปัจจุบันของตนเอง ว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเลิกอดทน
หากเป้าหมาย คือ การเรียนรู้ ขอแนะนำว่า อย่างน้อยควรอดทนจนถึงจุดที่สามารถถอดบทเรียนจากงานให้ได้ก่อน เช่น กรณีรับผิดชอบลูกค้าร้องเรียน ควรอดทนจนสามารถวิเคราะห์ประเภท และรู้ว่าจะต้องใช้วิธีใดในการแก้ปัญหาลูกค้าขี้บ่นแต่ละประเภทได้ ซึ่งหากงานที่รับผิดชอบมีการจัดกิจกรรมเดิมเพียงปีละรอบ ก็หมายความว่า เราควรให้เวลาตนเองเรียนรู้งานในตำแหน่งนั้นอย่างน้อย 3 ปี ปีแรกเรียนรู้ ทำตามคำสั่ง ปีที่ 2 ปฎิบัติได้เอง ปี 3 ได้ทดลองปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยแนวคิดของตนเอง ซึ่งจะทำให้ความอดทนนั้น ช่วยสร้างประวัติการทำงานใหม่ที่ใช้ได้จริง
หากเป้าหมาย คือ เพื่อพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ จะต้องอดทนอย่างไม่มีกำหนดจนเกิดเป็นความเคยชินหรือจุดแข็งที่เหนือกว่าคนอื่นที่เลิกทนแล้ว ที่จะช่วยให้เป็นผู้ที่พร้อมที่สุดที่จะได้รับโอกาสที่พัดผ่านเข้ามาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า
และแน่นอนว่า หากท่านยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า “จะทนไปทำไม” ทั้งๆ ที่ เงินก็มี ความรู้ก็มี เพียงแค่ เศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่เอื้ออำนวย ดิฉันก็ขอให้ท่านยึด “เป้าหมายเพื่อพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ” เป็นเหตุผลของการอดทนแม้เราจะไม่ทราบว่าจะนานกว่า 3 ปีหรือไม่ อย่างมีความหวัง
ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://www.wallpaperflare.com/stone-winter-snow-white-black-lake-nature-park-saturday-wallpaper-ewkor/download/1920×1080
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
26/1/2564
……………