การที่มีผู้นำที่ดีอาจจะทำอะไรไม่ได้มากหากผู้ตามไม่รู้บทบาทผู้ตามที่ดี ในทางกลับกันองค์กรที่ไร้ผู้นำที่เก่งกาจอาจจะยังคงดำเนินต่อไปได้ยาวนานหากผู้ตามหรือพนักงานระดับปฏิบัติการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์
ภาวะผู้นำ หรือ Leadership เป็นหัวข้อที่ฝ่ายจัดอบรมของทุกองค์กรมักให้ความสำคัญ โดยคาดหวังจะสร้างผู้นำที่ดีที่จะช่วยผลักดันงานต่างๆ ในองค์กรให้สำเร็จลุล่วงได้ดียิ่งขึ้น แต่การมุ่งเน้นสร้างผู้นำ จนพนักงานเหล่านั้น ลืมไปว่าตนถูกคาดหวังให้เป็นผู้ตามที่ดีด้วยเช่นกัน อาจกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง หรือความด้อยประสิทธิภาพอันนำไปสู่ความล้มเหลวในการขับเคลื่อนองค์กรให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์ดังต่อไปนี้บ่งบอกถึงการขาดภาวะผู้ตามที่ดีในองค์กรของท่าน
- ผู้เข้าประชุมที่มีบทบาทสำคัญขาดประชุมเป็นประจำ และไม่ส่งตัวแทน
- ในการประชุมแทบไม่มีผู้แสดงความเห็น หรือเสนอตัวรับผิดชอบ
- หลังประชุมมีการแสดงความเห็นส่วนตัวต่อมติที่ประชุมอย่างเผ็ดร้อนในรูปแบบต่างๆ จนสร้างความไม่สงบในองค์กร
- ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แสดงความเห็นคัดค้าน และไม่ยอมปฏิบัติตาม โดยไม่เคารพมติที่ประชุม และเสนอให้พิจารณาใหม่ โดยที่ตนเป็นหนึ่งในผู้ขาดประชุม
ถ้าองค์กรของท่านไม่เคยประสบปัญหาเช่นนี้ ให้นึกถึงกรณีจัดตั้งกรรมการบริหารหมู่บ้าน ซึ่งชัดเจนมากที่ว่า ไม่มีผู้ใดอยากเสนอตัวเป็นกรรมการ เพราะมีแต่ความปวดหัวเมื่อลูกบ้านไม่เข้าใจบทบาทของผู้ตามที่ดี เวลาจัดประชุมไม่ว่างมาและไม่ส่งตัวแทน เมื่อเจอกฎระเบียบที่ตนไม่สะดวกจะปฏิบัติตามก็มีแต่แสดงความเห็นวิจารณ์ในไลน์กลุ่มของหมู่บ้านเพื่อหาแนวร่วม และดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตามกฎซึ่งเป็นผลของการโหวด อ้างว่าเป็นกฎที่ขัดต่อกฎหมายหรือเหตุผลต่างๆ นาๆ มากไปกว่านั้นคือ ไม่ยินยอมสละเวลามาเป็นกรรมการเพื่อผลักดันปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับที่ถูกใจตนเองให้เป็นรูปธรรม
สำหรับกรณีที่ภาวะผู้ตามน่าชื่นชม ขอยกตัวอย่างสิ่งที่ดิฉันเคยประทับใจในช่วงที่ศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นคือ การแข่งขันเทเบิ้ลเทนนิส หรือปิงปอง เนื่องจากส่วนตัวดิฉันเป็นคนชอบกีฬาประเภทนี้ เลยไปขอสมัครเข้าชมรมปิงปองของนักศึกษาปริญญาตรี เพื่อที่จะได้ฝึกภาษาและวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการได้เล่นกีฬาที่ตนชอบ
เหตุการณ์ที่ประทับใจมากอย่างหนึ่งคือ การไปชมการแข่งขันเทเบิ้ลเทนนิสสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้เข้าแข่งขันมีตั้งแต่เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไปจนถึงผู้อาวุโสมาก น่าจะเกิน 60 ปี ก็มี มีจำนวนโต๊ะแข่งขันประมาณ 20 ตัว เพื่อจัดแข่งแบบคัดออกได้พร้อมๆ กัน ก็เรียกได้ว่า เต็มสนามฟุตซอลในร่มนั่นเอง จำนวนนักกีฬาไม่ต่ำกว่า 200 ชีวิต มีการแข่งทั้งประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ คู่ผสม และคู่รวมอายุไม่เกิน 100 ปี ก็มี ท่านคิดว่าการจัดแบบนี้ในเมืองไทยต้องใช้เจ้าหน้าที่อย่างน้อยกี่คนคะ? ขั้นต่ำคงต้องมีไม่ต่ำกว่าจำนวนโต๊ะแข่งและบวกแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ทั่วไป เพราะเราเคยชินกับการแบ่งแยกหน้าที่ว่า คนเป็นกรรมการก็ทำหน้าที่กรรมการ คนจัดสถานที่ก็ทำแต่สถานที่
ในการแข่งนั้น ดิฉันนับเจ้าหน้าที่จริงๆ ที่ไม่ใช่นักกีฬาได้ไม่เกิน 5 คน ใช่ค่ะ แค่นั้นจริงๆ เป็นเช่นนั้นได้เพราะว่า ทุกโต๊ะจะเริ่มแข่งด้วยการมีอาสาสมัครเป็นกรรมการนับ ซึ่งก็คือนักกีฬาที่ยังไม่ถึงคิวแข่งนั่นเอง เมื่อแข่งเสร็จผู้แพ้ต้องมาเป็นกรรมการนับแทนในคู่ต่อไป ผู้ชนะก็ไปเขียนผลการแข่งขันบนบอร์ดเอง ที่เด็ดกว่านั้นคือ เมื่อจำนวนการแข่งลดลงเรื่อยๆ นักกีฬาที่ตกรอบหรือแข่งจบแล้วก็จะช่วยกันเริ่มพับโต๊ะเก็บไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือคู่ชิงประเภทชายเดี่ยวซึ่งเป็นไฮไลท์ของงานเป็นโต๊ะสุดท้าย และเมื่อแข่งขันจบ เจ้าหน้าที่ประกาศผลในขณะที่ผู้ชมยังอยู่กันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้เกียรติผู้ชนะ แล้วจึงแยกย้ายกลับบ้านพร้อมกันหมดในพริบตา แทบไม่เหลือใครในสถานที่นั้นเลยในเวลาเพียง 10 นาทีหนังจากจบงาน
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นที่ได้ดิฉันสัมผัสได้ คือการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ตนต้องแสดงความรับผิดชอบ ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด สังคมญี่ปุ่นไม่ได้ปลูกฝังให้เด็กเก่งกว่าคนอื่น แต่ปลูกฝังให้เห็นแก่ส่วนรวม ละอายต่อการทำผิดกติการสังคม ในยามวิกฤติจึงมีความสงบ อดทนและพร้อมเพรียง เพื่อได้รับการช่วยเหลือที่เท่าเทียมกันตามลำดับ ไม่มีการโวยวาย หรือแสดงความเป็นอภิสิทธิชน
บางทีเราน่าจะพยายามสร้างองค์กรต้นแบบของการมีภาวะผู้ตามที่ดี เพื่อเป็นตัวอย่างในสังคม และสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทุกคนรู้บทบาทและเคารพกติการในเกิดในสังคมไทยกันบ้าง
ขอบคุณภาพประกอบจาก: table-tennis-rackets-yellow-surface_23-2147601760.jpg (626×417) (freepik.com)
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน