วันนี้ขอนำเสนอเรื่องฮาที่สามารถนำมามองในมุมที่เกี่ยวกับคนทำงานมืออาชีพ
เรื่องมีอยู่ว่า อาเสี่ยท่านหนึ่งทำธุรกิจอะไรก็ประสบความสำเร็จมีลูกน้องมากมาย ธุรกิจยุ่งมาก ประชุมไปทานข้าวไป ไม่มีเวลาดูแลตนเองเลยอ้วนลงพุงและมีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร เมื่อตนเองรู้สึกอึดอัดจนทนไม่ไหวจึงยอมเจียดเวลาไปพบแพทย์
เมื่อคุณหมอถามอาการว่าเป็นอะไรมา อาเสี่ยก็ร่ายยาวว่าตนทำธุรกิจอะไร ใหญ่โตขนาดไหน (เพื่อหวังว่าคุณหมอจะได้ให้ความสำคัญดูแลเป็นลูกค้า VIP) แล้วค่อยเข้าประเด็นว่า ตนมีอาการท้องอืดบ่อยๆ ตกบ่ายเวลาต้องนั่งประชุมนานๆ กับลูกน้องมักจะแน่นท้องมากจนอดผายลมออกมาไม่ได้ พักหลังรู้สึกว่าอั้นไม่อยู่ ผายลมถี่มากขี้น แต่โชคดีที่ไม่มีเสียงและไม่มีกลิ่น เลยไม่มีใครรู้ ก็ประชุมจบไปได้ด้วยดีตลอด แต่ตนเองรำคาญและสงสัยว่าเป็นอะไรมากหรือเปล่าเลยมาขอปรึกษาคุณหมอ พร้อมกันนั้นก็กลั้นอาการไม่อยู่ ผายลมออกมาหนึ่งระรอกแล้วเลยถือโอกาสบอกคุณหมอว่า ตนมีอาการอีกแล้ว เพื่อยืนยันว่าไม่มีกลิ่น และไม่มีเสียง แต่กลั้นไม่อยู่จริงๆ
คุณหมอเองก็ฟังเรื่องราวและรับรู้อาการด้วยสีหน้าเบื่อๆ กับอาการยอดฮิตของอาเสี่ยทั้งหลาย และเกรงใจคนไข้คนอื่นๆ ที่รอคิวอยู่ เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยเลยไม่ได้อธิบายอะไรมาก ให้ยาไปรับประทานแล้วนัดมาพบอีก 2 สัปดาห์
เมื่อครบกำหนด ปรากฏว่า อาเสี่ยมาพบคุณหมอด้วยความไม่พอใจ เตรียมมาจัดหนัก เพราะมั่นใจว่าคุณหมอแกล้งตนแน่ๆ เพราะนอกจากอาการท้องอืดจะไม่หายแล้ว จากที่ผายลมไม่มีเสียงดัง กลายเป็นดังมากจนทำให้ตนเองอับอายต่อลูกน้องในที่ประชุม เสียงดังครั้งใดตนต้องรีบก้มหน้า หรือขอตัวไปนอกห้อง จนเริ่มสังเกตเห็นลูกน้องหลายคนแอบก้มหน้ากลั้นหัวเราะแม้จะยังคงไม่มีใครกล้าหัวเราะออกหน้าออกตา
คุณหมอได้ยินแล้วก็ แสดงสีหน้าภูมิใจ และตอบสั้นๆ ว่า “ตามที่คุณเล่ามา แสดงว่าหูของคุณเริ่มดีขึ้นแล้ว เดี๋ยวผมจะจัดยาช่วยเรื่องการได้กลิ่นให้ แล้วอีก 2 สัปดาห์มาเจอกันใหม่นะครับ”
ถ้าคุณเป็นเสี่ยคนนี้ คุณจะยิ่งโกรธคุณหมอที่ไม่ตอบว่าทำไมอาการคุณยังไม่หาย หรือ คุณจะรู้สึกอับอายย้อนหลังต่อพนักงานในห้องประชุมที่ต้องทนพฤติกรรมของคุณโดยไม่กล้าพูดอะไรมาเป็นเวลายาวนาน?
เรื่องเล่าข้างต้นนี้ เป็นเรื่องฮาที่ดิฉันจำมาจากเพื่อนอาวุโสท่านหนึ่ง และอยากชวนท่านผู้อ่านคิดตามไปด้วยกันว่า
ถ้าอาเสี่ย คือ ตัวแทนของคนที่ประสบความสำเร็จจนชอบคิดว่าความคิดและพฤติกรรมของตนถูกเสมอ
ถ้าพนักงาน คือ ตัวแทนของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคนทั่วไปที่ไม่อยากถูกเสี่ยเกลียด หรือรู้สึกว่าธุระไม่ใช่
ถ้าคุณหมอ คือ ตัวแทนของคนกลางที่พิจารณาปัญหาตามความเป็นจริง หรือเจ้าหน้าที่ผู้คุมกฎระเบียบ
จะเห็นว่าตราบใดที่เราแต่ละคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเล่นบทอาเสี่ย ไม่สังเกตสีหน้าเวลาประชุมของพนักงานแต่ละคน และแถมไม่ฟังใครๆ ทักท้วงเรื่องการปฏิบัติตามกฎใดๆ เราก็อาจจะเป็นคนที่ทำอะไรผิดซ้ำๆ จนวันที่เรารู้ตัว ก็อาจจะต้องรู้สึกอับอายกับการต้องกลายเป็นเรื่องฮาที่ถูกเล่าต่อไปไม่สิ้นสุด หรือมีหลักฐานประจานตนเองที่ลบไม่ได้ให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้คิดเอาเองต่างๆ นาๆ
ตัวอย่างทั่วไปรอบๆ ตัวเราคือ การสวมสิทธิ์แทนผู้อื่น การโกงภาษี การต่อเติมบ้านหรือร้านค้าผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุมัติ หรือใช้พื้นที่สาธารณะวางของหรือเปิดร้านโดยไม่ขออนุญาตโดยเชื่อว่า ไม่มีใครว่า ไม่มีใครมาตรวจไม่เป็นไร ตนเองมีสิทธิ์ใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ใครก็ทำกัน เอาทีสะดวกดีที่สุด หรือคิดเอาเองว่าการทำเช่นนั้นได้แสดงถึงความเป็นผู้มีบารมี ซึ่งเป็นความคิดของคนรุ่นเก่า ซึ่งต่างจากมาตรฐานของคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ผ่านไปผ่านมาอาจจะรังเกียจและเลือกที่จะไม่ข้องเกี่ยวหรือไม่อุดหนุน จนตนเองไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม่ชีวิตจึงเหมือนขาดคนคบค้าลงไปเรื่อยๆ แล้วก็คิดเอาเองว่าเพราะปัจจัยอื่น
สำหรับตัวดิฉันเอง ก็เคยเล่นบทอาเสี่ยโดยไม่รู้ตัวมาก่อน เรื่องมีอยู่ว่า สมัยเรียนปริญญาเอกในประเทศญี่ปุ่น เวลามีคนรู้จักไปเที่ยวก็มักจะแนะนำให้ซื้อตั๋ว JR Pass ซึ่งสามารถขึ้นรถไฟชินกันเซนได้ไม่จำกัดเที่ยว ซื้อได้เฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่ได้พักอาศัยในญี่ปุ่น โดยเจ้าของบัตรแสดงพาสปอร์ตเพื่อเปิดใช้ในครั้งแรกเท่านั้น ก่อนกลับก็มักจะยกให้นักเรียนไทยเอาไปใช้ต่อกรณีที่ยังเหลือวัน ซึ่งเวลานั้นไม่มีใครคิดว่าผิด
ดิฉันเคยดีใจที่ได้ตั๋วฟรีนั้นมาใช้บ้างและคิดเอาเองว่าโอกาสถูกจับได้ต่ำมาก อย่างมากก็ทำตัวพูดภาษาญี่ปุ่นไม่เป็น ทำเป็นไม่เข้าใจกฎหมาย แต่โชคดีที่ประสาทสัมผัสของดิฉันดีพอสมควร ตอนที่เห็นสีหน้าของ Host Family ชาวญี่ปุ่นว่าไม่ได้รู้สึกสนุกหรือชื่นชมกับดิฉันแม้จะไม่ได้พูดอะไร ทำให้ดิฉันเริ่มรับรู้ได้ว่า สังคมที่พัฒนาแล้วเขาไม่ชื่นชมกับเรื่องการได้อภิสิทธิ์ที่ไม่ถูกกฎของสังคม จึงคิดได้ว่าเราไม่ควรต้องรอให้ถูกจับได้ แค่คนใกล้ตัวรังเกียงพฤติกรรมก็มากเพียงพอแล้ว เพราะความสัมพันธ์หรือความไว้วางใจก่อเกิดยาก หากเสียไปแล้วคงยากจะสร้างให้เหมือนเดิม และเมื่อได้มีโอกาสทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ตนเองได้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นว่า ความถูกต้องและจรรยาบรรณเท่านั้นที่จะทำให้องค์กรและตนเองเจริญรุ่งเรืองได้ในระยะยาว ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้นอาจทำให้ชื่อเสียงที่สะสมมาอันยาวนานหายในพริบตา
ในความเป็นจริง เมื่อสังคมมีการพัฒนามากขึ้น คนรุ่นใหม่จะมีความละอายต่อการแสดงตนเป็นอภิสิทธิ์ชนอย่างไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีวิธีลงโทษแบบไม่ต้องทะเลาะต่อหน้าผ่านสื่อโซเชียลโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่มาจัดการ ดังนั้นหากขาดประสาทสัมผัสรับรู้มาตรฐานสังคมที่ดี การกระทำถูกในมุมมองแบบอาเสี่ย (ก่อนที่จะปรึกษแพทย์) จะพอกพูนขึ้น เด่นชัดขึ้น จนกลายเป็นหลักฐานประจานตนเองไปในที่สุด
………………………
ขอบคุณภาพประกอบจาก: ภาพโดย <a href=”https://pixabay.com/th/users/pdpics-44804/?utm_source=link-attribution&utm_medium=referral&utm_campaign=image&utm_content=389944″>PDPics</a> จาก <a href=”https://pixabay.com/th/?utm_source=link-