พนักงานเข้าใหม่โดยเฉพาะที่เพิ่งเรียนจบและเริ่มทำงานมักคาดหวังว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะเป็นที่พึ่งได้หากรู้สึกว่าถูก bully ในที่ทำงาน ในความเป็นจริง หากเราต้องเป็นผู้จัดการคนนั้นเองเราจะทำอย่างไร
ขอยกสถานการณ์จำลองดังต่อไปนี้ พนักงานเข้าใหม่ไฟแรงทำงานไปได้จนใกล้ครบกำหนดการทดลองงาน ปรากฏว่าผลของการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำ พนักงานผู้นี้จึงขอนัดคุยกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นการส่วนตัว โดยเล่าว่าตนถูกกลั่นแกล้งแน่ๆ เพราะตนมั่นใจว่าทำงานดี และดีกว่าหัวหน้างานที่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดการให้เป็นผู้สอนงานและประเมินผลงานเสียอีก น่าจะเป็นเพราะหัวหน้างานไม่ชอบที่ตนทำงานดีกว่า จึงไม่ยอมสอนงาน แถมพูดจาไม่สุภาพใส่เป็นประจำ มีเพื่อนร่วมงานเป็นพยานได้ ตนก็อุตส่าห์อดทนเพราะอยากจะทำงานให้ครบปีก่อนที่จะย้าย ไม่อยากเสียประวัติการทำงาน
เมื่อได้ยินดังนี้ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลท่านนี้ ก็จำเป็นต้องรับเรื่องไว้ไปหาวิธีแก้ปัญหา และเริ่มด้วยการเชิญหัวหน้างานมาสอบถาม พร้อมทั้งสังเกตสีหน้าท่าทางในการให้ข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงไร และแล้ว ก็เจอว่า ข้อมูลที่ได้เป็นหนังคนละม้วน และรู้สึกว่ากำลังยืนอยู่ตรงทางแยกว่า ใครพูดจริง ใครโกหกกันแน่
หากคุณเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลคนนี้ คุณจะทำอย่างไร
- ปกป้องพนักงานใหม่ให้ดีที่สุด
- ค้นหาความจริง เพื่อสร้างความยุติธรรมในองค์กร
- แจ้งให้ผู้จัดการทราบและแก้ปัญหาเอง
- อื่นๆ
การแก้ปัญหาของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กร และความสำคัญของพนักงานเดิมที่มีต่อองค์กร ไม่ใช่ความสำคัญของพนักงานที่เข้าใหม่ เพราะช่วงเวลาทดลองงานไม่ยาวนานพอที่จะทำให้องค์กรประเมินคุณค่าของพนักงานใหม่ได้ชัดเจน
ใช่ค่ะ ฟังดูโหดร้าย สำหรับพนักงานที่เข้าใหม่ที่ยังไม่มีบทบาทสำคัญเด่นชัด แต่มันคือชีวิตจริง ที่เราปฏิเสธไม่ได้ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่เก่งคือคนที่สามารถทำให้ปัญหานี้จบอย่างนุ่มนวลที่สุด
การเอาตัวรอดในช่วงการทดลองงาน และใช้ได้ตลอดชั่วอายุการทำงาน คือ
- อย่าวิจารณ์หัวหน้างานให้เพื่อนร่วมงานฟัง และอย่าเล่าต่อเรื่องวิจารณ์ที่ได้ยินมา แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะการพูดต่อมักใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เสมอ
- ค่อยๆ สร้างผลงานที่หัวหน้างานพอใจ หากความสามารถของเราโดดเด่นจริง จะมีผู้สังเกตและหยิบยื่นโอกาสให้เอง หากไม่มีอาจหมายความว่า เราอาจกำลังประเมินตนเองสูงกว่าความเป็นจริง หรือ สิ่งที่เราทำได้ดีนั้นไม่ใช่สิ่งที่องค์กรคาดหวัง ณ เวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจำเป็นขึ้นมาก็ได้ เช่น ทักษะการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ทักษะทางภาษา หรือ เครือข่ายนอกองค์กร
- หาพื้นที่ฉายแววและสร้างเครื่อข่ายข้ามแผนก ผ่านกิจกรรม หรือ โครงการพิเศษขององค์กร แต่อย่าลืมกฎ ข้อที่ 1 และอย่าลืมขออนุญาตหัวหน้างานเสมอ
ใช่ค่ะ แค่เพียง 3 ข้อนี้ ก็จะสามารถเอาตัวรอดในองค์กรผ่านช่วงทดลองงานได้แน่นอน เพราะไม่มีมุมใดที่จะทำให้คุณไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินขั้นต่ำของการทำงาน ยกเว้นว่า ฝีมือของคุณไม่ถึงจริงๆ ไม่ใช่เพราะคุณบังเอิญเดินเหยียบเท้าผู้ทรงอิทธิพลคนใด ก็ควรต้องยอมรับความจริงกันไป และแม้คุณเป็นคนพิเศษจริงๆ ที่องค์กรต้องการรักษาไว้ การปฏิบัติตามทั้ง 3 ข้อนั้นจะช่วยให้คุณได้รับการยอมรับง่ายขึ้น
สำหรับคนที่บังเอิญเหยียบกับระเบิดเข้าให้ มักจะเลือกระหว่างยอมไม่ผ่าน Probation กับ พยายามให้พ้น Probation และอดทนจนครบ 1 ปี แล้วค่อยลาออกเพื่อไม่ให้เสียประวัติการทำงาน แต่ดิฉันขอเสนอให้คุณเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
- ขอโอกาสต่ออายุช่วงทดลองงาน โดยไม่ต้องพูดถึงความผิดของใคร แล้วขอคำแนะนำจากหัวหน้างาน (ไม่ว่าคุณจะยังรู้สึกว่าคุณถูกอยู่หรือไม่) แล้วทำข้อ 1 – 3 ข้างต้น เพื่อไปต่อให้ได้โดยไม่มีคำว่าลาออกก่อนที่จะได้ทักษะใหม่เพื่อหางานในตำแหน่งที่สูงกว่าหรือเมื่อได้งานใหม่
- ต่อรองกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าขอให้ผู้จัดการแผนกเป็นผู้ประเมินผลงานใหม่ โดยไม่อ้างอิงสิ่งที่หัวหน้างานนำส่งไป เพื่อยืนยันว่าตนมีความสามารถเพียงพอ แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาเปล่าและไม่สร้างปัญหาให้กับองค์กร ขอเลือกเป็นผู้ใช้สิทธิ์ลาออกเองด้วยเหตุผลว่าลักษณะงานไม่ตรงกับที่คิดไว้ ซึ่งจะทำให้สบายใจเวลาสัมภาษณ์งานใหม่
……………….
ขอบคุณภาพประกอบจาก: Photo by Drew Beamer on Unsplash
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
10/03/2564