EP นี้สกัดมาจากการสังเกตุว่า พนักงานส่วนมาก เผลอปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามระบบงาน คือ รับคำสั่ง ทำตามหน้าที่ มีงานส่งให้ทันกำหนด รอถูกประเมินผลงาน (ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ ประเมินเพียงปีละครั้ง) ปีแล้วปีเล่า โดยลืมฉุกคิดไปว่า หากไม่สามารถได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หรือ ได้งานที่เงินเดือนสูงเพียงพอ เมื่อถึงเวลาเกษียณ หรือ บริษัทมีปัญหาต้องเลือกพนักงานออกอย่างสถานการณ์ปัจจุบัน ตนจะมีเงินเก็บเพียงพอเลี้ยงชีพได้นานเท่าไหร่
หากหนึ่งในเป้าหมายของการทำงานในองค์กร คือการมีรายได้เพียงพอยังชีพเมื่อเกษียณ หรือการมีทางเลือกเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กร
ดิฉันขอแนะนำให้พิจารณาให้มนุษย์เงินเดือนทุกท่าน มี สมุดบันทึก 4 เล่มไว้คู่กายเสมอ เพื่อช่วยให้แน่ใจว่าเราจะมีพัฒนาการในสายอาชีพไปเรื่อยๆ คล้ายกับระบบการศึกษาที่ช่วยให้นักเรียนทุกคนมีพัฒนาการตามชั้นปี (แม้แต่ละคนจะได้มากน้อยไม่เท่ากัน)
-
สมุดจดบันทึกเป้าหมาย
เพื่อให้ทราบว่า ปลายทางของการทำงานเราจำเป็นต้องใช้เงินมากเพียงใด ควรหาข้อมูลและตั้งเป้าหมายที่จะสะสมเงินออมให้ได้ที่เกษียณ จากนั้นกำหนดแผนราย 10 ปี ย้อนกลับมาจนถึงปัจจุบันว่า แต่ละช่วง 10 ปี เราควรจะต้องมีเงินออมที่ประมาณเท่าไหร่ ใช้สมมุติฐานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงไว้ก่อนจะช่วยให้แน่ใจว่า ถ้าเก็บได้ถึงเป้าหมายแต่ละ 10 ปี ก็น่าจะเพียงพอจริง
เมื่อกำหนดแผนแล้ว ก็ต้องติดตาม โดยจดบันทึกการใช้จ่ายรายเดือน เพื่อช่วยสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่าย และช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้พยายามมองหาโอกาสเติบโตในสายอาชีพ
และเมื่อประสบความสำเร็จในโอกาสใด ก็ควรบันทึกความสำเร็จเหล่านั้นไว้ด้วย เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงโพรไฟล์ของตน ให้พร้อมนำเสนอเมื่อมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา
-
สมุดจดการบ้าน
เอาใว้จดงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งไม่เฉพาะ การบันทึกว่า รับงานอะไรมาเมื่อไหร่ จากใคร กำหนดส่งเมื่อไหร่ แต่ควรบันทึก ความผิดพลาด หรือ บทเรียนต่างๆ ที่ได้จากงานนั้นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข หรือเป็นเคล็ดลับเฉพาะตัวของตนต่อไป
-
สมุดจดสาระใหม่ๆ
มีใว้เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ เช่น กระบวนการทำงาน ความรู้จากการอบรบสัมมนาต่างๆ ที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วม และรวมไปถึง สิ่งที่เราถอดบทเรียนได้เอง จากสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งที่ประสบการณ์ตรง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น การทำเช่นนี้ จะทำให้เรามีทักษะของการคิดวิเคราะห์และเห็นแง่มุมที่เป็นปรัชญาของชีวิตการทำงาน ในการนำไปอบรม หรือ สอนต่อลูกน้อง อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบารมีในการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีตำแหน่งที่เป็นทางการก่อน
-
สมุดจดคำศัพท์
การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากการทำงาน เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม มักคิดว่าตนจะต้องลงทุนไปเรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ หรือสถาบันที่มีชื่อเสียงจึงจะเก่งขึ้นมาได้ แต่ที่จริงแล้ว ภาษาก็คือทักษะหนึ่งที่จำเป็นต้องฝึก สิ่งใดที่ไม่ได้ฝึกหรือไม่จำเป็นในชีวิตจริง ไม่นานก็จะลืมอยู่ดี การเรียนภาษาอังกฤษที่ได้ผล และมีประโยชน์ต่อความก้าวหน้าสูงสุด คือการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน และนำไปผูกรูปประโยคเพื่อการสื่อสารให้ได้ โดยลดความสำคัญของไวยกรณ์ลงไปก่อน เมื่อเข้าใจความหมาย ฟังรู้เรื่อง โต้ตอบได้ จึงมาพัฒนาความถูกต้องของไวยกรณ์ก็ยังไม่สาย
โดยส่วนตัว เคยเผลอคิดแบบเด็กเรียนทั่วไปที่ประเมินคนด้วยการใช้ไวยกรณ์ถูกต้องหรือไม่ จนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ CEO ชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่ภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ซึ่งท่านเล่าว่าเคยหนีทุกอาชีพที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แต่ก็หนีไม่พ้น เลยเปลี่ยนเป็นมุ่งมั่นที่จะอ่านเอกสารภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับงานของตน โดยการมาถึงที่ทำงานแต่เช้าทุกวัน เพื่อศึกษาด้วยตัวเอง ทำจนมั่นใจ และกล้าที่จะรับโอกาสถูกส่งไปประจำสาขาต่างประเทศ และได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็น CEO การสัมภาษณ์ครั้งนั้นก็ทำให้ดิฉันฉุกคิดได้ว่า การทำงานต้องเน้นที่ผล ไม่ใช่เน้นที่ความสมบูรณ์ทางวิชาการอย่างที่เราชินกันมาสมัยเรียน
สมุดบันทึก 4 เล่มนี้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นรูปแบบใด อาจจะเป็นการบันทึกลงในคอมพิวเตอร์ จัดเก็บเป็นระบบเพื่อง่ายต่อการสืบค้น หรือ การทบทวนอยู่ในหัวของเราอย่างต่อเนื่อง ขอเพียงให้แน่ใจว่าเราไม่เผลอปล่อยชีวิตให้อยู่อย่างไร้เป้าหมายและลืมพัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยลดโอกาสที่จะเสียใจเมื่อเวลาผ่านไป
……….
โดย ดร.วรัญญา อัจฉริยะชาญวณิช
Change Tutor – นักพัฒนาดาวเด่นในองค์กรแบบพุ่งเป้า
Founder & Managing Director, Wintegrate 99 Co., Ltd.
DCP 266/19, Certified Project Management Professional of PMI
ผู้แต่งหนังสือ The Change Tutor – จะเรียกดิฉันว่าหมอดูก็ได้ถ้าคุณยอมเปลี่ยน
ก้องภพ
September 3, 2020ขอบคุณครับสำหรับสาระที่ดีมากครับผม
ส่วนตัวมีเล่ม 1,2 แล้ว อ่านเสร็จจะทำเล่ม 3,4 ติดตามอ่านครับ
วรัญญา
September 3, 2020ขอบคุณที่สนใจและติดตามนะคะ
Anonymous
September 3, 2020ขอบคุณที่สนใจและติดตามค่ะ
วรัญญา
September 3, 2020ขอบคุณที่่สนใจและติดตามค่ะ