ผู้สูงอายุ เป็นวัยหนึ่งที่ปัญหาสุขภาพสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ และเป็นวัยที่อาจเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มได้ง่ายกว่าด้วยเช่นกัน เป็นเพราะสุขภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมลงโดยเฉพาะกำลังขาที่ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก มวลกล้ามเนื้อที่อ่อนแอหรือลดลงรวมไปถึงข้อเข่าเสื่อมลงหรือกระดูกที่เปราะบางลงด้วยเช่นกัน ทำให้การ พลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ต้องดูแลทั้งจากคนรอบข้างและผู้สูงอายุเอง ปัจจัยความเสี่ยงและสาเหตุ คืออะไร แล้วจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม มีตั้งแต่ปัจจัยทางสุขภาพไปจนถึงปัจจัยทางพฤติกรรม ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงจะมีดังนี้
ปัจจัยทางด้านร่างกาย
- กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ซึ่งมีส่วนทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาในการทรงตัวมากขึ้น ขยับร่างกายได้ลำบากขึ้น
- การมองเห็นแย่ลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาดวงตาและการมองเห็น อย่างโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือโรคดวงตาอื่น ๆ อาจทำให้ก้าวเท้าได้ไม่ดีหรือมองเห็นสิ่งกีดขวางไม่ชัด
- ภาวะโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน หรือโรคทางระบบประสาทอย่างโรคพาร์กินสัน ซึ่งทำให้การขยับร่างกายของผู้สูงอายุลำบากมากยิ่งขึ้น มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมากขึ้น
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม
- สิ่งกีดขวางมากเกินไป ความไม่เป็นระเบียบของสิ่งของภายในบ้าน
- แสงไม่สว่าง ทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นจนเสี่ยงต่อการหกล้ม
- ไม่มีที่จับหรือยืดเหนี่ยวที่จำเป็น เช่น ราวจับในห้องน้ำ ราวบันไดที่แข็งแรง หรือบันไดที่ชันจนเกินไป
ปัจจัยด้านพฤติกรรม
- ทำกิจกรรมที่เสี่ยงเกินไป อย่างการปีนบันไดหรือยืนบนเก้าอี้เพื่อเก็บของ การรีบเดินจนเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย ที่ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการทรงตัวแย่ลง
วิธีป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ สามารถทำได้ตั้งแต่การป้องกันโดยการออกกำลังกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อ การดูแลสุขภาพร่างกายและโรคประจำตัว การติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยในการอำนวยความปลอดภัยของผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ที่ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง
การออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อ
- การออกกำลังกายโดยการยกน้ำหนักที่พอไหว ใช้ดัมเบลเบา ๆ หรือยางยืดออกกำลังกายเพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อและคงมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
- บริหารสมดุลร่างกาย โดยการเล่นโยคะ รำมวยไทเก๊ก เป็นต้น
- แอโรบิค เพื่อบริหารความแข็งแรงของร่างกายรวมถึงการทำงานของหัวใจ หากไม่ไหวให้เลือกทางเลือกอื่น
การดูแลสุขภาพร่างกายและโรคประจำตัว
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประเมินสายตา การได้ยิน รวมถึงการตรวจสุขภาพโดยรวม
- การทานยา ปรึกษากับแพทย์เพื่อลดหรือเปลี่ยนยาบางชนิดที่มีผลทำให้เสี่ยงต่อการหกล้ม
- จัดการภาวะโรคเรื้อรัง การดูแลโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคข้ออักเสบ
การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยอำนวยความปลอดภัย
- ติดตั้งไฟที่มีแสงสว่าง โดยเฉพาะบริเวณห้องโถง บันได ห้องน้ำ หรือมุมมืดต่าง ๆ
- ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ บันไดให้แข็งแรง
- ใช้ผ้าป้องกันความลื่นภายในห้องน้ำ
- นำของที่ขวางหรือทำให้เดินลำบากออก
- ใส่รองเท้าที่ช่วยรองรับการเดิน และควรมีพื้นรองเท้ากันลื่นไว้ใส่ทั้งนอกบ้านและในบ้าน
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง วิตามินเอสูง
- อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
- เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม
- อย่าตกใจ ประเมินสถานการณ์ก่อนเป็นอันดับแรก
- เช็คว่ามีการตอบหนองหรือไม่
- เรียกรถพยาบาล โทร. 1669
- อย่าเคลื่อนย้ายคนหกล้มทันที หากไม่ได้มีสถานการณ์ไฟไหม้
- ตรวจสอบการบาดเจ็บ แผลเปิด รอยช้ำ กระดูก ถามคนล้มว่าปวดตรงไหนหรือขยับร่างกายได้ไหม
- หากเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าพันแผลกดแผล
- หากมีกระดูกหัก ให้ใช้เฝือกดามหรือรอรถพยาบาลมาจัดการ
- หากบาดเจ็บที่ศีรษะ ให้รักษาศีรษะและคอให้นิ่ง
- ทำ CPR หากจำเป็น
การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษทั้งคนในครอบครัวและตัวผู้สูงอายุเอง เพราะปัจจัยการหกล้มของผู้สูงอายุมีหลากหลายปัจจัย หากหกล้มขึ้นมาก็อาจมีความเสี่ยงถึงชีวิต การป้องกันไว้ก่อนจึงดีที่สุด
อ่านบทความเพิ่มเติม :
8 กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ บริหารร่างกาย ผ่อนคลายสุขภาพจิต
วิธีออกกำลังกายลดน้ำหนัก ผู้สูงอายุ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
5 สิ่งควรทำก่อนออกกำลังกาย ลดการบาดเจ็บ เพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ
สั่งซื้อ คลิกที่นี่